แนะใช้เทคโนโลยีทำ “Covid Passport” บันทึกประวัติวัคซีน สร้างความมั่นใจ
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.64 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในอนาคตข้างหน้ามีความเป็นไปได้สูง ที่ประวัติการรับวัคซีนโควิด-19 จะมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคนเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่มีแต่เรื่องภาคการท่องเที่ยวเท่านั้นที่จำเป็น แต่กิจกรรมต่างๆจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีน เช่น การเข้าร่วมงานแสดงต่างๆ ทั้งคอนเสิร์ต งานมหกรรมกีฬา รวมไปถึงสถานที่ที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนอื่น ทั้งในอาคารสำนักงาน ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้การกลายพันธ์ุของเชื้อไวรัสที่ส่งผลกระทบให้วัคซีนบางขนาน ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ รวมทั้งความถี่ของการได้รับวัคซีน มีการคาดการณ์ว่าอาจจะต้องมีการฉีดซ้ำทุกๆปีหรือสองปี ดังนั้นความจำเป็นที่จะต้องมี covid passport หรือ covid pass ที่เป็นระบบดิจิทัลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะสร้างความมั่นใจ โดยต้องจัดทำให้มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถปลอมแปลงได้ ซึ่งจะสามารถเรียกตรวจสอบได้ทุกที่ทุกเวลา
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า การวางแผนจำเป็นต้องทำแบบบูรณาการ วิธีการดำเนินการอาจเป็นไปได้หลายวิธี เช่น นำไปผูกกับบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด หรือการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิททัล (NDID) และอาจจะนำเทคโนโลยี เช่น Blockchain หรือ IoT มาใช้ นอกจากอุปกรณ์หรือบัตรดิจิทัลที่ประชาชนจะได้รับเพื่อบันทึกประวัติ จะต้องคำนึงถึงเครื่องอ่าน เครื่องบันทึกหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จำเป็นจะต้องมีการศึกษาและวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ในเวลาที่เหลืออีกไมถึงเดือน ที่จะมีการเร่งฉีดให้ประชาชน ความสำคัญของการกระจายให้ประชาชนได้รับวัคซีนในระยะเวลาอันสั้นนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่การเก็บประวัติและติตตามก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยฐานข้อมูลการฉีดวัคซีนอาจช่วยในการป้องกันผลอันไม่พึงประสงค์ได้หลายอย่าง เช่น การเตือนให้มารับวัคซีนเข็มที่สองได้ทันเวลา การป้องกันความสับสนของการรับวัคซีนเข็มแรกและเข็มสองที่ไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งการแจ้งเพื่อให้มารับวัคซีนขนานใหม่ เมื่อตรวจพบเชื้อกลายพันธ์ุที่วัคซีนที่ได้รับการฉีดไปแล้วนั้น ไม่สามารถต้านทานได้ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง การใช้เพียงแต่สมุดฉีดวัคซีนอาจไม่เพียงพอตอบสนองต่อสิ่งที่จะต้องรับมือในอนาคต
ที่มา : thairath.co.th/news/politic/2083585
เทคโนโลยี บล็อคเชน กระดูกสันหลังใหม่ของธุรกรรมบนเครือข่ายดิจิทัล
เทคโนโลยี บล๊อคเชน คืออะไร ?
บล๊อคเชน เป็นบัญชีดิจิตัลทีบันทึกธุรกรรมที่ไม่อาจช่อโกงได้ และไม่ได้บันทึกได้แค่ธุรกรรมการเงินเท่านั้นแต่บันทึกได้ทุกธุรกรรมที่มีมูลค่า: Don & Alex Tapscott
อย่างที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยี บล๊อคเชน เริ่มแรกถูกใช้เป็นบัญชีแยกประเภทแบบสาธารณะที่บันทึกธุรกรรมของเงินดิจิทัลสกุลบิทคอยน์ และในปัจจุบันถูกนำมาใช้ในหลากหลายธุรกรรม ซึ่งจริงๆแล้ว เทคโนโลยี บล๊อคเชน เป็นบันทึกธุรกรรมต่างๆที่มีมูลค่า ด้วยหลักการใหม่ ที่นำเอา 3 เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วนำมาทำงานร่วมกัน ซึ่งแตกต่างจากวิธีดั้งเดิมที่ใช้กันอย่างหลากหลายในปัจจุบัน
เพื่อความเข้าใจการทำงานของบล็อคเชนยิ่งขึ้น จะยกตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่ เช่น การบันทึกเอกสารของ google doc หรือ google sheet หรือ wikipedia คือเมื่อเราต้องการให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถแก้ไข และบันทึกเอกสาร และสุดท้ายเผยแพร่ต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งหมดนี้ล้วนต้องกระทำบนเซิร์ฟเวอร์กลางผู้คนถึงจะเข้าถึงเอกสารได้หลายๆคนพร้อมกัน ซึ่งมีเจ้าของเซิร์ฟเวอร์เป็นผู้กำหนดสิทธิ์ และรับรองสิทธิ์ของผู้เข้าถึงบัญชีหรือเอกสาร และอีกทั้งยังเป็นผู้รักษาความปลอดภัยของเซิฟเวอร์จากการแฮกของแฮกเกอร์ เหมือนกันกับการบันทึกทางธุรกรรมการเงินของธนาคารในปัจจุบันก็กระทำบนเซิร์ฟเวอร์กลางของธนาคารผู้เป็นเจ้าของบัญชี
แต่การบันทึกบัญชีหรือบันทึกธุรกรรมบน เทคโนโลยี บล็อคเชน มีความแตกต่างกันออกไป เมื่อเกิดการทำธุรกรรมขึ้นของสองฝ่าย คอมพิวเตอร์ที่เป็นเครือข่าย เพียร์ทูเพียร์ ( peer to peer network เป็นเครือข่ายที่ไม่ใช้เซิร์ฟเวอร์กลาง) ทั้งหมดจะช่วยกันบันทึกและตรวจสอบความถูกต้อง และสุดท้ายเผยแพร่ให้กับเครือข่ายทั้งหมดรับรู้ธุรกรรมที่เกิดขึ้น ไม่มีบุคคลใดสามารถควบคุมการทำธุรกรรมนี้ได้ ไม่มีบุคคลใดสามารถทำธุรกรรมปลอมขึ้นมาได้ เพราะใครก็ตามที่ต้องการปลอมต้องเปลี่ยนทั้งหมดทั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่อง ซึ่งไม่มีใครมีคอมพิวเตอร์ที่มีพลังมากมายขนาดนั้น
เทคโนโลยี บล็อคเชน ทำงานได้อย่างไร ?
จากที่ได้กล่าวถึงว่า เทคโนโลยี บล็อคเชน ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ก่อนแล้ว 3 อย่างหลักแล้วนำมาใช้ร่วมกันกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่แสนสุดวิเศษ เทคโนโลยี 3 อย่างที่ว่านั่นคือ 1) Cryptographic keys (การเข้ารหัสลับ) 2) ระบบ เพียร์ ทู เพียร์ เนตเวิร์ค (peer to peer network หมายถึงเรื่องข่ายที่ไม่มีเซิร์ฟเวอร์กลาง) ใช้ในการบันทึก และเผยแพร่บัญชีการทำธุรกรรม 3) โปรแกรมในการให้แรงจูงใจกับเครือข่ายในการให้บริการเก็บรักษาข้อมูลและความปลอดภัย ต่อไปนี้เป็นการไล่เรียงการทำงานของระบบ เทคโนโลยี บล๊อคเชน
เทคโนโลยี การเข้ารหัส cryptographic keys
เมื่อบุคคลหรือหน่วยงานต้องการทำธุรกรรมร่วมกัน แต่ละฝ่ายต้องมีรหัสลับ 2 ชุดด้วยกันคือ 1)รหัสลับส่วนตัว (Private Key) 2)รหัสสาธารณะ (Public key) วัตถุประสงค์ของ เทคโนโลยี บล๊อคเชน ที่นำเอาเทคโนโลยีการเข้ารหัสมาใช้เพื่อเป็นการสร้างข้อมูลประจำตัวในการอ้างอิงในระบบดิจิทัลที่มีความปลอดภัย โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในการยืนยันตัวเองว่าคุณเป็นใครมาจากไหน เพียงแค่การรวมตัวกันของรหัสลับส่วนตัวกับรหัสสาธารณะก็เกิดเป็นลายเซ็นต์ดิจิทัลขึ้นมาใช้ในการบ่งบอกเอกลักษณ์และตัวตนของผู้ที่จะทำธุรกรรมได้
ระบบเครือข่ายแบบกระจาย
ระบบเครือข่ายที่กระจายตัวแบบนี้มีความสำคัญต่อ เทคโนโลยี บล็อคเชน เมื่อเกิดการทำธุรกรรมขึ้นระหว่างสองฝ่าย แม้จะมีการยืนยันตัวตนโดยใช้รหัสส่วนตัวและรหัสสาธาณะแล้ว แต่เมื่อไม่มีใครรับรู้ว่าธุรกรรมก็เป็นที่สงสัยว่าธุรกรรมนั้นเกิดขึ้นหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องมีเครือข่ายแบบกระจายเพื่อจะได้ช่วยยืนยันการทำธุรกรรม และช่วยเผยแพร่ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในเครือข่าย การยืนยันธุรกรรมในแบบปัจจุบันอาจจะใช้เอกสารรูปถ่ายลายเซ็นต์ แต่การยืนยันและเผยแพร่ ของเทคโนโลยีนี้ใช้ รูปแบบทางคณิตศาสตร์
ในช่วงแรกๆขนาดของเครือข่ายมีความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยยิ่งปริมาณของเครือข่ายมากยิ่งมีความปลอดภัยสูง ยกตัวอย่าง บล็อคเชน ของเงินดิจิทัลสกุลบิทคอยน์ มีเครือข่ายมากมาย เมื่อหลายปีที่แล้ว บิทคอยน์มีกำลังของคอมพิวเตอร์เครือข่ายมากถึง 3,500,000 TH/s ซึ่งมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 10,000 แห่งรวมกันนับว่ามหาศาล ปัจจุบันนี้เครือข่ายของบิคอยน์มีกำลัง 17.6 ล้าน TH/s นับว่ามากมายมหาศาลเกินกว่าระบบคอมพิวเตอร์ใดๆจะเข้าแทรกแซงได้
การบันทึกข้อมูล
เมื่อมีธุรกรรมเกิดขึ้น เครือข่ายของ บล็อคเชน จะทำการรวบรวมข้อมูลใส่ไว้ในลิสต์รายการที่เรียกว่า บล็อค (ฺBlock) โดยข้อมูลในนั้นประกอบไปด้วย รหัสลับส่วนตัว รหัสสาธารณะ และข้อมูลแฮชบางส่วนของบล็อคที่ได้รับการยืนยันแล้วที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และข้อมูลหรือข้อความของบล็อคนี้ที่ต้องการส่งหรือบันทึกไว้ รวมกันแล้วแฮชเป็นบล็อคใหม่ จากนั้นจะแจ้งให้คอมพิวเตอร์ทุก Node ที่อยู่ในเครือข่ายทราบ เพื่อที่จะช่วยกันยืนยันและบันทึกธุรกรรม เมื่อได้รับการยืนยันแล้ว บล็อคหรือลิสต์ข้อมูลที่แฮชแล้วนี้ จะถูกนำไปต่อเข้ากับบล็อคก่อนหน้านี้ เมื่อข้อมูลถูกต้องระบบก็จะรวมเข้าในเครือข่ายบล็อคเชน ข้อมูลของบล็อคอื่นๆก็จะมาต่อกันเรื่อยๆเป็นลูกโซ่ ถ้ามีใครสักคนหนึ่งพยายามจะทำบล็อคธุรกรรมปลอมเข้ามาแทนที่บล็อคที่ถูกบันทึกไว้แล้ว จะส่งผลกระทบต่อบล็อคอื่นๆต่อมา ซึ่งทำให้เกิดกลายเป็นบล็อคธุรกรรมปลอมด้วยกันทั้งหมด ดังนั้นบล็อคธุรกรรมปลอมนั้นจะถูกตัดทิ้ง และเข้ามาแทนที่ไม่ได้เพราะจะทำให้บล็อคธุรกรรมที่ตามมาปลอมหมด ดังนั้นการบันทึกธุรกรรมแบบบล็อคเชนจึงไม่สามาถแก้ไขและทำปลอมได้
โปรแกรมการให้แรงจูงใจในการยืนยันและบันทึกข้อมูลของเครือข่าย
แน่นอนว่าในการบันทึกธุรกรรมนี้ต้องอาศัย Node ต่างๆของเครือข่ายแบบ Peer to Peer ที่ยอมนำเอากำลังของคอมพิวเตอร์เข้ามาแชร์ในการตรวจสอบและบันทึกข้อมูลธุรกรรม แน่นอนว่าต้องมีระบบตอบแทนหรือแรงจูงใจ ยกตัวอย่างเครือข่าย บล็อคเชน ของบิทคอยน์ ระบบเครือข่ายบิทคอยน์จะให้รางวัล 25 บิทคอยน์ในการแฮชแต่ละบล็อคสำเร็จ และอัพเดตไปในระบบ บล็อคเชน (บัญชีแยกประเภทถูกอัพเดต) และทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบไปพร้อมๆกัน แต่ด้วยทั้งระบบของบิทคอยน์มีเหรียญบิทคอยน์เพียง 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ถ้าใช้ความสามารถของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันทำคงใช้เวลาเพียงนิดเดียวเหรียญคงหมดเกลี้ยง ดังนั้นระบบเครือข่ายของบิทคอยน์จึงต้องสร้างให้มีความยากขึ้นไปอีกเพื่อรักษาสมดุลย์ของเหรียญบิทคอยน์โดยให้คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายทำงานชนิดหนึ่งเพิ่มเติมในเงื่อนไขที่ยาก เรียกว่างานนี้ว่า “Proof of Work” เมื่อทำสำเร็จจึงจะยอมรับว่า บล็อคที่สร้างมานั้นถูกต้องและนำไปต่อกันกับบล็อคก่อนหน้านี้ได้ ใครทำสำเร็จก็จะได้รับรางวัล เงื่อนไขนี้จะถูกปรับให้ยากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะว่าบิทคอยน์เป็นรางวัลที่มีค่าสูงจึงทำให้มีเครือข่ายในระบบมาก เครือข่ายบล็อคเชนของบิทคอยน์จึงมีความปลอดภัยสูง
ชนิด จำนวน วิธีการตรวจสอบบันทึก จะมีวิธีแตกต่างกันไปในแต่ละเครือข่ายของบล็อคเชนนั้นๆ โดยขึ้นกับโปรโตคอลของบล็อคเชนที่ผู้สร้างเขียนขึ้นมาว่า คอมพิวเตอร์ของเนตเวิร์คต้องดำเนินการยืนยันด้วยวิธีอย่างไร และจะให้แรงจูงใจเป็นอะไรแบบไหนเท่าไร เพื่อให้เครือข่ายประสบความสำเร็จและมีผู้คนสละกำลังของคอมพิวเตอร์มาร่วมกันบันทึกและยืนยันธุรกรรมของเครือข่าย
ที่มา : khundee.com
Google Account เตรียมใช้การยืนยันตัวตน 2 ชั้น เป็นค่า Default สำหรับผู้ใช้ทุกคน
GoogleGoogle ประกาศใช้การยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอน หรือ two-factor authentication (2FA) บนบัญชี Google Account (ที่ Google เรียกว่า 2SV ย่อมาจาก Two-Step Verification) ซึ่งผู้ใช้จะต้องยืนยันตัวตนผ่าน Google Prompt บนมือถือก่อนเพื่อล็อกอินเข้าใช้งาน Google Account บนอุปกรณ์ต่าง ๆ นั่นเอง
โดย 2SV นั้นจะถูกเซ็ตเป็นค่า Default (ค่าเริ่มต้น) โดยอัตโนมัติบนบัญชีของผู้ใช้ Google account ทุกคน ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบการตั้งค่าได้ผ่าน Google account โดยเข้าไปที่ Security ถ้ามีความต้องการจะปรับกลับเป็นเหมือนเดิม ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าต้องการความปลอดภัยของบัญชีที่มากขึ้น เราไม่แนะนำ
Google ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การยืนยันตัวตน บนสมาร์ทโฟนที่เป็น Android จะเป็นการแจ้งเตือนด้วย Google Prompt ตามปกติ แต่ในกรณีของ iOS นั้นสามารถยืนยันผ่านแอป Gmail, Smart Lock หรือ แอปพลิเคชันของ Google ใดก็ได้ ถ้ามีการล็อกอินบัญชี Google account ไว้อยู่แล้ว พร้อมระบุว่าการยืนยันตัวตนด้วยระบบของ 2SV นั้นจะปลอดภัยกว่า 2FA อื่น ๆ เป็นไหน ๆ การเปิดใช้ 2SV จะเริ่มเร็ว ๆ นี้ แต่ไม่มีการระบุเวลาที่แน่นอน
ที่มา : news.thaiware.com/20148.html
เมื่อแอปเปิลเปลี่ยนนโยบายเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว โฆษณาแบบ ‘เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย’รอดหรือไม่?
แอปเปิลอัปเดตระบบปฏิบัติการในไอโฟนใหม่เป็น 14.5.1 เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งบังคับให้แอปพลิเคชันต่างๆ ในไอโฟนและไอแพดต้องขออนุญาตจากผู้ใช้ว่า ‘ยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวหรือไม่’ ด้วยฟีเจอร์ความโปร่งใสติดตามข้อมูลผู้ใช้ของแอป (App Tracking Transparency หรือ ATT) ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สร้างแรงสะเทือนต่อแพลตฟอร์มต่างๆ ที่พึ่งพารายได้จากข้อมูลของผู้ใช้ โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล เพราะมาตรการนี้ของแอปเปิลส่งผลให้การทำโฆษณาแบบเจาะจงตัวบุคคลได้ยากขึ้น
ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มโฆษณาดิจิทัลพึ่งพาข้อมูลกิจกรรมออนไลน์ของผู้ใช้ได้ เช่น เว็บไซต์ที่เข้าชม หรือตำแหน่งที่อยู่ เพื่อให้สามารถสร้างโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้ โดยเกือบทั้งหมดไม่ได้ถามความสมัครใจจากผู้ใช้ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายได้โฆษณาดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 60% ของตลาดโฆษณาทั่วโลก และช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อัลฟาเบต (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิลซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโฆษณาดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีรายได้เพิ่มขึ้น 34% ขณะที่เฟซบุ๊กก็มียอดขายเติบโตถึง 46%
ก่อนหน้านี้ แอปเปิลมี IDFA (Identifier for Advertisers) ที่ทำให้แอปพลิเคชันสามารถดูกิจกรรมของผู้ใช้โทรศัพท์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตและไม่รู้ชื่อผู้ใช้ แต่ตอนนี้ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันต้องขออนุญาตผู้ใช้ก่อน การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดนี้ของแอปเปิลจึงทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องเร่งหาทางรับมือ แม้จะไม่พอใจนโยบายของแอปเปิลก็ตาม
และหากผู้ใช้เลือกไม่ยินยอมให้ใช้ข้อมูล การทำโฆษณาก็จะมีความแม่นยำน้อยลงด้วย เฟซบุ๊กจึงน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในบรรดาแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ที่หารายได้จากข้อมูลของผู้ใช้เจ้าอื่นที่มีระบบปิดของตัวเอง ซึ่งบริษัทวิจัยการตลาด เอ็มเคเอ็ม พาร์ตเนอร์ส (MKM Partners) เผยแพร่ผลการวิเคราะห์นโยบายใหม่ของแอปเปิลเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า เฟซบุ๊กและสแนป (Snap) ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ตามด้วยทวิตเตอร์และพินเทอเรสต์ (Pinterest)
ส่วนกูเกิลและแอมะซอนได้รับผลกระทบต่ำที่สุด เนื่องจากกูเกิลมีรายได้จากโฆษณาที่ได้ข้อมูลจากคำที่ผู้ใช้ป้อนเข้าช่องค้นหา ส่วนเว็บแอมะซอนก็สามารถติดตามได้ว่า ลูกค้าซื้ออะไรหลังจากที่เห็นโฆษณาบนเว็บ ตอนนี้ เฟซบุ๊กจึงเร่งพัฒนาระบบของตนเองมากขึ้น เห็นได้จากการออก เฟซบุ๊ก ชอปส์ (Facebook Shops) และ อินสตาแกรม ชอปส์ (Instagram Shops)
ขณะที่บริษัทรายเล็กที่พึ่งพาการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งาน (cookies) ก็มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะไม่มีระบบของตนเอง บริษัทอี-คอมเมิร์ซรายเล็กจำเป็นต้องอาศัยโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายในการทำการตลาด และพร้อมกันนั้น บริษัทที่เล็กกว่าก็มักได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้ให้เก็บข้อมูลน้อยกว่า มีผลการสำรวจของ แอปส์ฟลายเออร์ (AppsFlyer) บริษัทโฆษณาไอทีพบว่า ผู้ใช้ไอโฟนยินยอมให้แอปซื้อของและการเงินติดตามตนเองมากกว่า 40% แต่ให้แอปเพื่อความบันเทิง (เช่น เกม) ติดตาม 12% เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ยังคงมีความพยายามปรับตัวให้อยู่รอดจากกฎห้ามส่งต่อข้อมูลใหม่นี้ ยกตัวอย่างเช่น แอปเปิลที่ออก SKAdNetwork (SKAN) เพื่อช่วยนักโฆษณาให้สามารถใช้ข้อมูลทำแคมเปญทางการตลาดต่างๆ ขณะเดียวกัน วิธีการดั้งเดิมที่ไม่ต้องพึ่งพิงข้อมูลติดตามผู้ใช้มากนัก ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้มากขึ้น อาทิ การติดตามยอดขายในช่วงเวลาต่างๆ กัน
ด้านบริษัทใหญ่อย่างผู้ผลิตโมบายล์ซอฟต์แวร์ แอปเลิฟวิ่ง (AppLovin) ก็ซื้อบริษัทโฆษณาทางโทรศัพท์ที่ชื่อ แอดจัสต์ (Adjust) บริษัทโฆษณาผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นจำนวนเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการทำงานของแอดจัสต์จะใช้วิธีขอให้ผู้ใช้ ‘ลงชื่อเข้าใช้’ ว่าจะให้แอปติดตามพฤติกรรมของตนเองหรือไม่ โดยไม่ต้องอาศัย IDFA
นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและนักกลยุทธ์การตลาดให้คำแนะนำต่อการปรับตัวของบริษัทโฆษณาต่างๆ ในวารสารฮาร์วาร์ด บิสสิเนส รีวิว (Harvard Business Review) ว่า แทนที่จะเน้นข้อมูลของผู้ใช้แบบเฉพาะเจาะจง บริษัทควรมองภาพที่ใหญ่ขึ้น เก็บข้อมูลทางสถิติจากการทำแคมเปญโฆษณาต่างๆ ในระยะยาวเพื่อให้มีข้อมูลประเมินทางสถิติได้ นอกจากนี้ ควรทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตนเองให้มากกว่าเดิม เพราะเมื่อผู้ใช้ตอบรับผลิตภัณฑ์ของเราแล้ว ก็ทำให้ต้องทำโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายน้อยลง ซึ่งข้อดีของความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็คือ กระตุ้นให้นักโฆษณามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น โดยไม่ยึดติดกับข้อมูลส่วนตัวและพฤติกรรมมากนัก
ที่มา : ryt9.com/s/prg/3221804
เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มให้อยู่รอดหลังการแพร่ระบาดอย่างไร
เราไม่อาจปฏิเสธความสำคัญของอาหารที่นอกจากจะทำให้เราอิ่มท้องแล้ว ยังช่วยให้เรารู้สึกสบายใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของ Social distancing ที่ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่คุณสั่งมาตอนเที่ยง การตั้งโต๊ะกินชาบูกับเพื่อนๆ หรือการลิ้มลองครัวซองต์แสนอร่อยจากร้านเบเกอรี่ใกล้บ้านช่วงที่คุณต้อง WFH นอกเหนือจากคุณค่าทางโภชนาการแล้ว รสชาติที่คุ้นเคยยังช่วยให้คุณผ่อนคลาย เสริมสร้างกำลังใจในยามที่โลกกำลังมองหาหนทางในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
ในความเป็นจริง ธุรกิจบริการด้านอาหารกำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อยที่มีความเปราะบาง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองหาหนทางใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจ ขณะที่การแพร่ระบาดส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร
แนวโน้มสำคัญที่เราพบเห็นคือ ผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ในเอเชีย ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวัน ข้อมูลจาก Deloitte[1] ชี้ว่า ผู้ใหญ่วัย 21-40 ปีเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการใช้ชีวิตดิจิทัลไลฟ์ (Digital Life) อย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ โดย 78% ระบุว่าใช้บริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาด
สำหรับธุรกิจ F&B แบบเดิม ๆ แพลตฟอร์มและเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้า เช่น ขณะที่เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในเอเชีย แพลตฟอร์มบริการส่งอาหาร Fly-Food ในไทย ได้นำเสนอโซลูชั่นภายใต้ความร่วมมือกับอาลีเพย์ (Alipay) เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในไทย โดยมุ่งเน้นบริการส่งอาหารจีนให้กับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
ตั้งแต่ต้นปี 2563 แพลตฟอร์ม Fly-Food ที่มีฐานธุรกิจหลักอยู่ในไทย มุ่งเน้นการให้บริการแก่ชาวจีนที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ด้วยการเปิดตัวมินิโปรแกรมบน Alipay โดยบริษัทฯ คาดการณ์ว่าน่าจะมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ซึ่งส่งผลให้ชาวจีนไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้โดยสะดวก และอาหารท้องถิ่นของจีนน่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการบรรเทาจิตใจชาวจีนให้หายคิดถึงบ้านเกิดได้
การดำเนินการที่รวดเร็วของธุรกิจสตาร์ทอัพรายนี้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่า แม้สถานการณ์แพร่ระบาดจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลง แต่ปัจจุบัน Fly-food มียอดสั่งซื้อเฉลี่ยสูงถึง 700 รายการต่อวัน และมีร้านอาหารเข้าร่วมแพลตฟอร์มมากขึ้น โดย 40 เปอร์เซ็นต์ของร้านอาหารทั้งหมด (ประมาณ 1,500 ร้าน) เข้าร่วมแพลตฟอร์มหลังเกิดการแพร่ระบาด และหลายร้านมีรายได้ที่มากกว่าครึ่งมาจากออเดอร์ที่สั่งผ่าน Fly-Food เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าในการกำหนดกลยุทธ์ด้านดิจิทัล ธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก
แนวคิดที่ว่า “ทำเลคือสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจ” ยังคงเป็นความจริงแม้กระทั่งในยุคดิจิทัล กล่าวคือ ธุรกิจจำเป็นที่ต้องอยู่ในจุดที่ลูกค้าเข้าถึงได้สะดวก โดยนอกจากจะมีหน้าร้านบนระบบดิจิทัลแล้ว ยังต้องทำประชาสัมพันธ์ และทำให้ลูกค้าสามารถค้นหาธุรกิจของคุณได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะผ่านแอพส่งอาหาร แพลตฟอร์มบริการดิจิทัลไลฟ์ หรือเว็บไซต์ของคุณเอง
ตัวอย่างเช่น ทรูมันนี่ (TrueMoney) บริการดิจิทัลวอลเล็ท ได้เปิดตัวฟีเจอร์ “ร้านค้าใกล้คุณ”[2] ในช่วงการแพร่ระบาด เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาร้านค้าในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงร้านอาหารข้างทางและร้านสาขา ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารโดยไม่ต้องเดินทางไกล ขณะเดียวกันฟีเจอร์นี้ก็มีประโยชน์ต่อร้านค้า เพราะช่วยให้ลูกค้าสามารถค้นหาและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
เทรนด์การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเริ่มก่อตัวขึ้นในธุรกิจ F&B เห็นได้จากธุรกิจที่มีหน้าร้านตามปกติก็เริ่มหันไปใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการขายสินค้าในรูปแบบดิจิทัล เช่น บัตรกำนัลสำหรับรับประทานอาหาร เพื่อดึงดูดนักช้อปออนไลน์ให้เข้ามารับประทานอาหารที่ร้านในแบบออฟไลน์
ปัจจุบัน ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และมองหาหนทางในการลดการสัมผัส โดยหันไปใช้บริการที่ไว้ใจได้เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ความสามารถในการจองผ่านระบบออนไลน์ การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล เครือข่ายการจัดส่งสินค้าที่มีความคล่องตัวสูง ทั้งหมดนี้คือแง่มุมสำคัญในการพิจารณาเพื่อกำหนดกลยุทธ์ทางด้านดิจิทัล ควบคู่กับการดำเนินงานที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพ
รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจังแก่ธุรกิจในแต่ละประเทศ เช่น สำหรับงบประมาณปี 2564[3] รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศแผนการจัดสรรงบประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับโครงการใหม่ ๆ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนสนับสนุนบางส่วนแก่องค์กรต่าง ๆ ในการปรับใช้โซลูชั่นดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ โครงการ Hawkers Go Digital ของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ได้รับการตอบรับที่ดี โดยจากตัวเลขการลงทะเบียนจนถึงเดือนสิงหาคม 2563 พบว่าเกือบหนึ่งในสามของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยราว 18,000 รายทั่วประเทศสิงคโปร์ได้เข้าร่วมโครงการนี้[4]
แพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วโลกสามารถร่วมมือกับธุรกิจ Start-up ด้านเทคโนโลยี เพื่อมองหาหนทางใหม่ ๆ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจท้องถิ่นเพื่อการเข้าถึงลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นบริการส่งอาหาร การสั่งซื้อทางออนไลน์แล้วไปรับสินค้าที่ร้าน การสำรองที่นั่ง หรือการเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพในการส่งเสริมการขายและการทำตลาด ด้วยการทำงานและผนึกกำลังร่วมกัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์ ธุรกิจ F&B จะสามารถฟันฝ่าวิกฤติและสร้างอนาคตใหม่ที่สดใสได้อย่างแน่นอน
ที่มา : ryt9.com/s/prg/3221804
ศธ. เตรียมเปิดเว็บไซต์ ครูพร้อม ฝ่าปัญหาการเรียนรู้ช่วงโควิดระลอก 3
• ระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 17-31 พ.ค. ก่อนเปิดภาคเรียน 11 วันทำการ จะเป็นการเตรียมความพร้อมของทั้งครูและนักเรียน โดยมีการจัดกิจกรรมเสริมความรู้การจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ถึงทักษะชีวิตที่จำเป็นจากเหตุการณ์ร่วมสมัย จัดการเรียนรู้ของจริง ประสบการณ์จริง เพื่อทำให้การเรียนรู้ของเด็กไทยต่อเนื่องไม่หยุดชะงักลง
• ระยะที่สอง ตั้งแต่การเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป จะเป็นการจัดการเรียนรู้ 5 รูปแบบ คือ On-Site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.), On-Air เรียนผ่าน DLTV, On-Demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ, Online เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต, On-Hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือแบบฝึกหัดใบงาน และในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น
ในส่วนของการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำ Web Portal เพื่อเสริมแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่หน่วยงานในสังกัด ศธ.มีอยู่ โดยจะเป็นคลังสื่อ ข้อมูลการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการจัดกิจกรรม ซึ่งมีข้อมูลทั้งของ สพฐ.-สช.-สำนักงาน กศน.-สอศ. แบ่งเป็นหัวข้อ – หมวดหมู่ตามความสนใจ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบกลาง ส่วนกิจกรรมรูปแบบออฟไลน์ สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมร่วมกับ ศบค.จังหวัด โดยยึดความปลอดภัยของนักเรียนและครูเป็นหลัก พร้อมมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการวางระบบติดตามประเมินผล และรายงานผลการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด19 โดยจะต้องไม่เป็นภาระกับสถานศึกษาและการที่โรงเรียน จะใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ.จะรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ จากคุณครูที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดเป็นชุมชนออนไลน์เพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผ่านเว็บไซต์ ครูพร้อม เพื่อให้ครูที่พร้อมแล้ว ได้มาช่วยเหลือ แบ่งปัน เพื่อนครูด้วยกัน
ซึ่งโครงการครูพร้อม เกิดจากความห่วงใยว่าเมื่อเลื่อนการเปิดเรียนไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายนแล้ว ในช่วงเวลา 11 วันทำการ ก่อนเปิดภาคเรียน ก็ถือเป็นเวลาที่มีค่าที่จะเป็นทางเลือกให้กับครู ผู้ปกครอง นักเรียน มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการการเรียนรู้ที่โดยจัดไว้เป็น 2 รูปแบบดังกล่าวทั้ง Online และ On-Site โดยกระทรวงศึกษาธิการได้รวบรวมเนื้อหาทุกส่วนที่สำคัญมาไว้ในเว็บไซต์ ครูพร้อม ด้วยซึ่งมีภาคเอกชนมาร่วมด้วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้เว็บไซต์ครูพร้อม จะเปิดตัวภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 นี้
ที่มา : ศธ.360 โดยกระทรวงศึกษาธิการ cover facebook ศธ.360 องศา