เมื่อวันที่ 3 พ.ค.64 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในอนาคตข้างหน้ามีความเป็นไปได้สูง ที่ประวัติการรับวัคซีนโควิด-19 จะมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคนเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่มีแต่เรื่องภาคการท่องเที่ยวเท่านั้นที่จำเป็น แต่กิจกรรมต่างๆจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีน เช่น การเข้าร่วมงานแสดงต่างๆ ทั้งคอนเสิร์ต งานมหกรรมกีฬา รวมไปถึงสถานที่ที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนอื่น ทั้งในอาคารสำนักงาน ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้การกลายพันธ์ุของเชื้อไวรัสที่ส่งผลกระทบให้วัคซีนบางขนาน ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ รวมทั้งความถี่ของการได้รับวัคซีน มีการคาดการณ์ว่าอาจจะต้องมีการฉีดซ้ำทุกๆปีหรือสองปี ดังนั้นความจำเป็นที่จะต้องมี covid passport หรือ covid pass ที่เป็นระบบดิจิทัลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะสร้างความมั่นใจ โดยต้องจัดทำให้มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถปลอมแปลงได้ ซึ่งจะสามารถเรียกตรวจสอบได้ทุกที่ทุกเวลา
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า การวางแผนจำเป็นต้องทำแบบบูรณาการ วิธีการดำเนินการอาจเป็นไปได้หลายวิธี เช่น นำไปผูกกับบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด หรือการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิททัล (NDID) และอาจจะนำเทคโนโลยี เช่น Blockchain หรือ IoT มาใช้ นอกจากอุปกรณ์หรือบัตรดิจิทัลที่ประชาชนจะได้รับเพื่อบันทึกประวัติ จะต้องคำนึงถึงเครื่องอ่าน เครื่องบันทึกหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จำเป็นจะต้องมีการศึกษาและวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ในเวลาที่เหลืออีกไมถึงเดือน ที่จะมีการเร่งฉีดให้ประชาชน ความสำคัญของการกระจายให้ประชาชนได้รับวัคซีนในระยะเวลาอันสั้นนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่การเก็บประวัติและติตตามก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยฐานข้อมูลการฉีดวัคซีนอาจช่วยในการป้องกันผลอันไม่พึงประสงค์ได้หลายอย่าง เช่น การเตือนให้มารับวัคซีนเข็มที่สองได้ทันเวลา การป้องกันความสับสนของการรับวัคซีนเข็มแรกและเข็มสองที่ไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งการแจ้งเพื่อให้มารับวัคซีนขนานใหม่ เมื่อตรวจพบเชื้อกลายพันธ์ุที่วัคซีนที่ได้รับการฉีดไปแล้วนั้น ไม่สามารถต้านทานได้ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง การใช้เพียงแต่สมุดฉีดวัคซีนอาจไม่เพียงพอตอบสนองต่อสิ่งที่จะต้องรับมือในอนาคต
ที่มา : thairath.co.th/news/politic/2083585